วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แบบฝึกที่ 1

ประเภทของขลุ่ยไทย
1. สาระสำคัญ
ขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีที่ทำให้เกิดเสียงโดยการเป่า ขลุ่ยที่นิยมเล่นในปัจจุบัน
นอกจากจะบรรเลงเดี่ยวแล้ว ยังนำไปเล่นร่วมกับวงเครื่องสายไทยและวงมโหรี มีอยู่ 3 ชนิด
คือ ขลุ่ยหลิบ ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยอู้ (เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี, 2542) ขลุ่ยแต่ละชนิดมีระดับเสียง
และขนาดที่แตกต่างกันออกไป
ขลุ่ยไทยจัดเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าที่ไม่มีลิ้น เลาขลุ่ย นิยมทำด้วยไม้ไผ่
หรือไม้รวก แต่อาจใช้วัสดุอื่นมาทำได้ เช่น ไม้เนื้อแข็งและท่อพลาสติก เสียงขลุ่ยเกิดจาก
การเป่าลมผ่านช่องลม เป็นเครื่องดนตรีมีมาแต่โบราณ นิยมใช้เป่าเพื่อความบันเทิง ใช้บรรเลงร่วมกับวงเครื่องสาย วงมโหรี และวงปี่พาทย์

2. ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
1. จำแนกประเภทของขลุ่ยไทยได้ถูกต้อง
2. บอกวัสดุที่ใช้ทำขลุ่ยได้

3. สาระการเรียนรู้
ประเภทของขลุ่ยไทย

ประเภทของขลุ่ยไทย
เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าที่ไม่มีลิ้น เครื่องดนตรีประเภทนี้เรียกโดยรวมว่า “ขลุ่ย” ลักษณะของขลุ่ย
เลาขลุ่ย นิยมทำด้วยไม้ไผ่ แต่ก็อาจใช้วัสดุชนิดอื่นมาทำได้ เช่น ไม้เนื้อแข็งและท่อพลาสติก บนเลาขลุ่ยจะประกอบด้วย รูทั้งหมด 13 รูด้วยกัน รูที่ทำให้เกิดความแตกต่างของเสียงมีด้วยกัน 9 รู ประกอบด้วยด้านบนหรือด้านหน้า จำนวน 7 รู ด้านหลังหรือด้านล่างมี 1 รู เรียกว่า “รูค้ำ” และด้านข้างอีก 1 รู เรียกว่า “รูเยื้อ” โดยทั่วไปรูเยื้อจะใช้หัวหอมหรือกระดาษบาง ๆ เช่น กระดาษสาปิดไว้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดเสียงสั่นพลิ้ว อันเป็นคุณลักษณะของเสียงขลุ่ยที่สำคัญยิ่ง (เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี, 2542)
ขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีที่ทำให้เกิดเสียงโดยการเป่า ขลุ่ยที่นิยมเล่นในปัจจุบันนอกจากจะบรรเลงเดี่ยวแล้ว
ยังนำไปเล่นร่วมกับวงเครื่องสายไทยและวงมโหรี มีอยู่ 3 ชนิดคือ ขลุ่ยหลิบ ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยอู้ (เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี, 2542) ขลุ่ยแต่ละชนิดมีระดับเสียงและขนาดที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
1. ขลุ่ยหลิบ ขลุ่ยหลีบหรือขลุ่ยหลีก เป็นขลุ่ยขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ
35 เซนติเมตร ความกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ทำขึ้นภายหลัง เพื่อให้คู่กับขลุ่ยเพียงออ
โดยมีเสียงเล็กแหลมสูงกว่าขลุ่ยเพียงออ 3 เสียง และมีลีลาการบรรเลงที่โหยหวน ถี่กระชับ
นิยมใช้บรรเลงในวงเครื่องสายเครื่องคู่ เครื่องสายปี่ชวา มโหรีเครื่องคู่ ถ้าปิดรูทั้งหมดจะเป็นเสียง “ ฟา” ลำดับเสียงคือ ฟา ซอล ลา ที โด เร มี ฟา
2. ขลุ่ยเพียงออ เป็นขลุ่ยขนาดกลาง มีความยาวประมาณ 45 เซนติเมตร ความกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ซึ่งกำหนดให้มีทางเสียงประจำตัวว่า “เสียงเพียงออ” ใช้บรรเลงทั่วไปในวงเครื่องสาย มโหรี
ปี่พาทย์ไม้นวม ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ทั้งยังเป็นหลักในการเทียบเสียงเครื่องดนตรีในวงด้วย เมื่อปิดนิ้วทุกนิ้วจะได้เสียงเทียบเท่ากับเสียงโด ถ้าปิดรูทั้งหมดจะเป็นเสียง “ โด ” ลำดับเสียงคือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด
3. ขลุ่ยอู้ เป็นขลุ่ยขนาดใหญ่ที่สุดของขลุ่ยไทย มีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร
ความกว้างประมาณ 4 เซนติเมตร มีระดับเสียงทุ้มต่ำนุ่มนวล มีลีลาการบรรเลงที่เรียบง่าย
ใช้เสียงยาวเป็นหลัก โดยมีระดับเสียงต่ำสุดต่ำกว่าระดับของขลุ่ยเพียงออลงไป 2 เสียง
ขลุ่ยอู้ใช้ในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ถ้าปิดรูทั้งหมดจะเป็นเสียง “ ซอล” ลำดับเสียงคือ ซอล ลา
ที โด เร มี ฟา ซอล (กาญจนา อินทรสุนานนท์, ม.ป.ป.; พิชัย ปรัชญานุสรณ์, 2545; สมโชค
สงชู, 2545; อัษฎาวุธ สาคริก, 2550)

เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าที่ได้กล่าวแล้วตั้งแต่ต้น ล้วนมีลีลาของการบรรเลง
ที่คล้ายคลึงกัน คือ เก็บบ้าง โหยหวนบ้าง เครื่องเป่าไทยทุกชนิดมีลีลาการผลิตเสียงที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น คือ “ การระบายลม” การระบายลมเป็นเทคนิคการผ่อนและเป่าลม
ให้หมุนเวียนไปมา สามารถสร้างเสียงได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่ยาวนานจนคล้ายกับ
ผู้เป่ามิได้หยุดหายใจ (เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี, 2542)

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ15 มกราคม 2565 เวลา 23:41

    Coin Trading Co. Ltd. 1xbet 1xbet 우리카지노 우리카지노 코인카지노 코인카지노 563Lucky 7 - Deposit bonus code - GOLD - Bitcoin Casino

    ตอบลบ